ดอกเบี้ย 1.25% บริการรวดเร็ว ทันใจ ถูกกฎหมาย

ข่าวสาร

เอกสารสิทธิ์ที่ดิน สิ่งที่ต้องรู้ในการซื้อขายที่ดิน

เอกสารสิทธิ์ที่ดิน สิ่งที่ต้องรู้ในการซื้อขายที่ดิน

ความรู้เรื่อง เอกสารสิทธิ์ที่ดิน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก สำหรับใครที่กำลังต้องการซื้อ ขาย เช่า หรือให้เช่าที่ดิน เนื่องจากเอกสารเกี่ยวกับที่ดินเหล่านี้ เป็นหลักฐานยืนยันกรรมสิทธิ์ สิทธิ์ครอบครอง และสิทธิในการทำประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย วันนี้ MoneyGuru.co.th จะพาคุณผู้อ่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ เอกสารเกี่ยวกับที่ดินแต่ละประเภทไปพร้อม ๆ กัน

โฉนดที่ดิน (น.ส.๔ ฯลฯ)
คือหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมาย โดยยังรวมไปถึง โฉนดแผนที่,โฉนดตราจอง และโฉนดตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินถือว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นอย่างสมบูรณ์ เช่น มีสิทธิ์ใช้ประโยชน์จากที่ดิน มีสิทธิ์จำหน่าย มีสิทธิ์ขัดขวางไม่ให้ผู้ใดเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โฉนดที่ดินนั้นมีหลายแบบได้แก่ น.ส.๔, น.ส.๔ ก, น.ส.๔ ข, น.ส.๔ ค, น.ส.๔ ง และ น.ส.๔ จ เป็นโฉนดที่ออกให้ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ น.ส.๔ จ. เป็นเอกสารทางที่ดินที่ใช้กันเป็นหลัก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โฉนดที่ดินนั้นออกโดยกรมที่ดิน บนโฉนดที่ดินจะระบุเลขที่โฉนด และที่ตั้งของที่ดินว่าอยู่ในตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต และจังหวัดใด พร้อมทั้งระบุชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินคนแรก และผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินคนปัจจุบัน

นอกจากนั้น โฉนดที่ดินจะบอกรายละเอียดของที่ดิน เช่น ขนาดเนื้อที่ ณ วันที่ออกโฉนด รูปร่าง ลักษณะของที่ดิน ความกว้าง ความยาว แนวเขตที่ติดต่อกับที่ดินโดยรอบ และเลขหลักหมุดที่ดิน และส่วนของที่ดินซึ่งติดกับทางหรือถนนสาธารณะ นอกจากนี้บนโฉนดยังเก็บประวัติการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วย เช่น การขาย ขายฝาก จำนอง เซ้ง แบ่งแยก รวมไปถึงการให้หรือรับมรดก ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถตรวจสอบข้อมูลโฉนดที่ดินได้ที่สำนักงานที่ดิน

ใบจอง (น.ส.๒)
เป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อเป็นการแสดงความยินยอม ให้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเป็นการชั่วคราว เป็นหนังสือที่ออกให้แก่ราษฎรที่ทางราชการได้จัดที่ดินให้ทำกินตามประมาลกฎหมายที่ดิน ซึ่งทางราชการจะมีการเปิดโอกาสให้จับตองเป็นคราว ๆ ไปในแต่ละท้องที่ โดยใบจองนี้ไม่สามารถทำการโอนไปให้บุคคลอื่นได้เว้นเสียแต่จะตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทเท่านั้น ผู้ที่มีใบจองจะต้องเริ่มทำประโยชน์ในที่ดินภายใน 6 เดือน และต้องทำประโยชน์ในที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบจอง และต้องทำประโยชน์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 35 ของที่ดินที่จัดให้ และเมื่อทำประโยชน์ตามเงื่อนไขแล้วสามารถนำใบจองนั้นมาขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓, น.ส.๓ ก, หรือ น.ส.๓ ข) หรือโฉนดที่ดินได้ แต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือโฉนดที่ดินนั้น จะต้องตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

หนังสือรับรองการทำประโยชน์
คือหนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว ที่ดินที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้จะต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามกฎหมาย กล่าวคือ ต้องไม่ใช่ที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ที่ชายตลิ่ง ที่เขาหรือภูเขา ที่เกาะ ที่สงวนหวงห้ามตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๒๐(๓) และ (๔) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๖ หรือที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวมไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อสาธารณะประโยชน์อื่น ๆ

ผู้ซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์มีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้นยังไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์สามารถจำหน่าย จ่ายโอน และทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินนั้นได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นที่ดินที่ได้รับคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งบัญญัติว่า “ที่ดินที่มีคำรับรองจากนายอำเภอว่า ได้ทำประโยชน์แล้วให้โอนกันได้” หนังสื่อรับรองการทำประโยชน์มีทั้งหมด 3 แบบดังนี้

  1. น.ส.๓ ก เป็นเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินซึ่งออกโดยกรมที่ดิน ใช้วิธีการกำหนดตำแหน่งของที่ดินด้วยการใช้ระวางภาพถ่ายทางอากาศ จึงไม่มีหมุดหรือหลักเขตแบบการทำโฉนดที่ดิน และมีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนของแนวเขตที่ดินได้คะ ทั้งนี้การพิสูจน์แนวเขตจะอ้างอิงจากแนวรั้ว แนวหลักซึ่งปักกันเองระหว่างเจ้าของที่ดิน หรือจากลักษณะทางภูมิประเทศที่เด่นชัด เช่น สันเขา ลำคลอง ต้นไม้ใหญ่ เป็นต้น
  2. น.ส.๓ ข ใช้ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในท้องที่ที่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติ ตามประมวลกฎหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอตามมาตรา ๑๙ แห่งประราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘ แล้ว
  3. น.ส.๓ ใช้ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในท้องที่อื่นนอกจากที่ระบุไว้ในข้อ 1. และ 2. เป็นเอกสารสิทธิ์ในที่ดินซึ่งออกโดยกรมที่ดินเช่นเดียวกับ น.ส.๓ ก เพียงแต่ไม่มีการทำระวางเพื่อแสดงตำแหน่งที่ดิน รายละเอียดที่ระบุมีเพียงรูปร่างของที่ดิน เนื้อที่และแนวเขต ซึ่งรับรองโดยกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม น.ส.๓ จะมีโอกาสคลาดเคลื่อนมากกว่า น.ส.๓ ก

ใบไต่สวน (น.ส.๕)
คือหนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดินและให้หมายความถึงใบนำด้วย โดยเป็นหนังสือที่จะออกก่อนการออกโฉนดที่ดินทุกครั้ง เนื่องจากสมัยก่อนการที่กรมที่ดิน ออกสำรวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่ใด มักใช้เวลาเป็นปีกว่าจะออกโฉนดได้ ทำให้ราษฎรเกิดความเดือดร้อน เพราะระหว่างที่โฉนดยังไม่ออกราษฎรไม่สามารถทำการโอนที่ดิน หรือนำที่ดินไปจดทะเบียนสิทธิ์อื่นได้ กฎหมายจึงกำหนดให้ใบไต่สวน เป็นหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน ที่จะจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมใด ๆ ได้เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปทำให้เจ้าพนักงานสามารถออกโฉนดที่ดินได้ทันที ในทางปฏิบัติหากมีการออกสำรวจ เจ้าหน้าที่ก็สามารถแจกใบไต่สวน และโฉนดที่ดินได้เลยพร้อม ๆ กัน

หนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.๓)
เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์สำหรับสมาชิกนิคม ที่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตนิคมสร้างตนเองโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเกินกว่า 5 ปี โดยเมื่อได้ น.ค.๓ มาแล้ว ตามมาตรา ๑๑ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ บัญญัติว่าสามารถนำ น.ค.๓ มาขอโฉนดที่ดินได้ โดยโฉนดที่ดินที่ออกจากหลักฐาน น.ค.๓ ถูกกำหนดห้ามโอนเป็นระยะเวลา 5 ปี เว้นแต่ตกทอดเป็นมรดก

หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อ.ช.๒)
เป็นเอกสารที่ออกโดยกรมที่ดินเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม มีลักษณะคล้ายกับโฉนดที่ดิน อ.ช.๒ จะแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับห้องชุด ได้แก่ เนื้อที่ของที่ดินที่อาคารชุดตั้งอยู่ ชั้นที่ห้องชุดตั้งอยู่ ขนาดพื้นที่ใช้สอยในห้องรวมพื้นที่ระเบียง แผนผังและรูปแบบของห้อง ความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดาน และที่จอดรถ รวมไปถึงสิทธิต่อทรัพย์สินส่วนกลาง และรายการเพิ่มเติมอื่น ๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก MoneyGuru.co.th